7ปีของ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ

วันนี้ เพจ #ไทยหลังอาน ฯ ขอนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมฯ ว่า 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (2564) กฎหมายคุ้มครองน้องหมาน้องแมวและสัตว์เลี้ยงได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งคงต้องใช้การตัดสินโดยศาลเป็นวัตถุในการศึกษาโดยได้นำเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาเป็นตัวอย่าง
1.กฎหมาย
1.1 พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
มาตรา 31 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=719599…
1.2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=443287…
2.อธิบาย
2.1 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ หมายถึง กฎหมายมุ่งคุ้มครองสุนัข แมว และสัตว์อื่น เช่น นก ไก่ ฯลฯ ที่เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน (ไม่ได้เลี้ยงไว้เป็นอาหาร) คุ้มครองไม่ให้มีการทุบตี ทำร้าย แกล้งให้เจ็บปวด
2.2 โดยไม่มีเหตุอันสมควร หมายถึง ไม่มีเหตุใดๆให้ต้องทำร้ายสัตว์ การทำร้ายไม่ได้ทำเพื่อป้องกันตัวหรือทรัพย์สินจากสัตว์ เช่น ทำร้ายโดยแกล้ง รังแก ข่มเหง ทำเพื่อสนุกสนานหรือทำเพื่อความสะใจ เป็นต้น
2.3 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หมายถึง โทษสูงสุด จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทางปฎิบัติจะลงโทษน้อยกว่า หรือ รอการลงโทษจำคุก ก็ได้ แล้วแต่ความร้ายแรงของการกระทำและความเสียหายที่เกิดขึ้น
3.คดีตัวอย่าง
3.1 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 401/2562 ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2560 จำเลยทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร ใช้เมล็ดข้าวสาร #ผสมยาฆ่าแมลงให้ไก่ ของนาย อ. ผู้เสียหายกิน จนเป็นเหตุให้ไก่ตาย(9 ตัว) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 (ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ เพราะไก่ เป็นทรัพย์ชนิดหนึ่ง) พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมฯ มาตรา 20,31 ศาลตัดสินว่า ไก่ของนาย อ. เคยเข้ามาในสวนยางพาราของจำเลยหลายครั้ง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคย ทำร้ายหรือฆ่าไก่ของโจทก์ร่วมมาก่อน และไม่เคยต่อว่าหรือโกรธเคืองโจทก์ร่วม กรณีจึงไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจทำให้ต้องฆ่าไก่ของนาย อ. ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าไก่ของนาย อ. จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
แต่การที่จำเลยโรยเมล็ดข้าวสารผสมยาฆ่าแมลงห่างจากรั้วบ้านของนาย อ. เพียง 4 ถึง 5 เมตรตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้นจำเลยต้องใช้ความระมัดระวังให้มากเนื่องจากเมล็ดข้าวสารผสมยาฆ่าแมลงเป็นอันตรายต่อสัตว์ทั้งยังเป็นอาหารของไก่ กรณีจึงเป็นไปได้ที่ไก่ของนาย อ. จะเดินเข้ามาในสวนยางพาราของจำเลยแล้วกินเมล็ดข้าวสารที่จำเลยโรยไว้โดยง่าย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำการอื่นใดเพื่อป้องกันไม่ให้ไก่ของนาย อ. เข้ามากินเมล็ดข้าวสารดังกล่าวก่อนที่จำเลยจะออกจากสวนยางพารากรณีจึงถือได้ว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่
เมื่อไก่ของนาย อ. ทั้ง 9 ตัวมากินเมล็ดข้าวสารผสมยาฆ่าแมลงนั้นจนตายการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอันเป็นการกระทำละเมิดจำเลยจำต้องชดใช้ค่าสินไหนทดแทนแก่โจทก์ร่วม พิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 4,000 บาท แก่ นาย อ.
สรุปว่า คดีนี้ ไก่ 9 ตัว ตายเพราะถูกวางยาพิษ เจ้าของไก่จึงไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ต่อมาจำเลยผู้วางยา ถูกฟ้องต่อศาล เป็นคดีอาญา ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และ ทารุณกรรมฯ (ไก่) และ ถูกเจ้าของไก่เรียกเงินค่าเสียหาย สุดท้ายศาลตัดสินว่า ไม่ผิด ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และ ทารุณกรรมฯ (ไก่) (หลุดพ้นคดีอาญา ไม่ถูกจำคุกและปรับ) แต่ก็ผิดละเมิดทางแพ่ง (ไม่หลุดคดีแพ่ง) คือ ต้องจ่ายเงินค่าไก่ 9 ตัวที่ตาย ให้แก่เจ้าของไก่ เป็นเงิน 4,000 บาท https://decision.coj.go.th/decision
3.2 ศาลจังหวัดหล่มสัก หมายเลขคดีแดง อ.1303/2561 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำให้เสียทรัพย์ โดย #ทุบตีสุนัข ของนางสาว ศ. ผู้เสียหาย และเป็นการกระทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานในร่างกายได้รับบาดเจ็บและตาย เป็นการทำรุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและมิใช่กรณีมีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิต หรือร่างกายมนุษย์หรือสัตว์อื่น/จำเลยให้การปฏิเสธ/ ตัดสินว่า โจทก์มีประจักษ์พยานมานาสืบยืนยันให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ตีสุนัขผู้เสียหาย (มีคนเห็นเหตุการณ์ยืนยันว่ามีการตีสุนัขจริง) จำเลยได้ใช้ไม้ตีสุนัขผู้เสียหายจนถึงแก่ความตายจริง การกระทำดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการทำให้เสียทรัพย์(สุนัขผู้เสียหายเป็นทรัพย์) และ จำเลยตีสุนัขผู้เสียหายทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานทางร่างกายได้รับความเจ็บปวด จนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเหตุอันควร และไม่ใช่ฆ่าสุนัขผู้เสียหายในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิต หรือร่างกายจำเลย หรือสุนัขจำเลยแต่ประการใด อันเป็นการทำรุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทำรุณกรรม ฯ อีกฐานหนึ่งด้วย พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด (ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และ ข้อหาทารุณกรรมสัตว์ฯ) … จำคุก 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน..ให้รอการลงโทษ(จำคุก) ไว้ 2 ปี https://decision.coj.go.th/decision
สรุปว่าคดีนี้ จำเลยทุบตีสุนัขตาย เจ้าของสุนัขเลยไปแจ้งตำรวจ ต่อมามีการส่งตัวจำเลยฟ้องที่ศาล ศาลตัดสินว่าผิดข้อหาทำให้เสียทรัพย์ (สุนัขเป็นทรัพย์) และ ทารุณกรรมสุนัขฯ (การกระทำเดียว ผิด 2 ข้อหา) จำคุก 1 เดือน แต่รอลงโทษจำคุก แต่โทษปรับ 20,000 บาท ยังคงต้องจ่ายให้รัฐ (จำเลยไม่หลุดคดีอาญา) สังเกตว่าคดีนี้ เจ้าของสุนัขไม่เรียกร้องเงินค่าเสียหายจากจำเลย ต่างกับคดีไก่ตาย 9 ตัว ที่สุดท้ายได้เงินค่าไก่ รวม 4,000 บาท
4.ข้อสังเกต การฆ่าสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น จะผิด 2 ข้อหาเสมอ คือ 1 ข้อหา ทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 358 เพราะ สุนัข แมว ไก่ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นทรัพย์สิน 2 ข้อหา ทารุณกรรมสัตว์ฯ ตาม พรบ.ป้องกันการทารุณฯ มาตรา 20 ,31 เพราะสัตว์ที่ตายย่อมได้รับความเจ็บปวดก่อนตาย
5.สรุปได้ว่า พ.ร.บ.ฯ มีการบังคับได้ตามสมควรแล้ว ถ้าพบเห็นว่ามีการทำร้ายทุบตีหรือวางยาพิษสัตว์เลี้ยง ก็สามารถนำเรื่องไปแจ้งตำรวจได้เพราะเป็น #คดีอาญาแผ่นดิน ใครเห็นก็แจ้งได้ทุกคน หรือจะโทร 191 หรือ ใช้แอพใดๆของรัฐที่รับแจ้งคดีก็ได้ ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสัตว์ ส่วนโทษที่ตัดสินนั้น ถือว่าไม่หนักมากเพราะพฤติการณ์ยังไม่อุกฉกรรจ์ถึงขนาดจะต้องจำคุกกันจริงๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรอลงโทษจำคุก คือ ไม่ได้ติดคุกจริงๆแต่จะต้องมารายงานตัวเป็นระยะๆ (ควบคุมความประพฤติ) ซึ่งตัวผู้กระทำความผิดจะต้องเสียเงินอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เงินที่จ่ายค่าปรับให้รัฐ (โทษปรับเงิน) ส่วนที่ 2 คือ #ค่าเสียหายที่จ่ายแก่เจ้าของสัตว์ (แล้วแต่จะเรียกร้องกี่บาท ซึ่งมักจะได้มาจริงๆไม่มากหรือจะไม่เรียกร้องก็ได้)
6. ส่วนประเด็นเรื่อง การ #จัดสวัสดิภาพสัตว์ กฎหมายมุ่งคุ้มครองความเป็นอยู่ การมีที่พักอาศัย มีอาหารการกินที่ดี การไม่ถูกทอดทิ้ง และการได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ตามสมควร คดีประเภทนี้ จะต้องมีหลักฐานว่าสุนัขหรือแมวที่ถูกทิ้งเป็นของใคร และใครเอามาทิ้ง ปล่อยหรือละทิ้ง ซึ่งทางปฎิบัติ น่าจะพิสูจน์ได้ยาก เพราะหาคนที่เห็นเหตุการณ์ตอนทิ้งหรือภาพกล้องวงจรปิดที่เห็นตอนทิ้งได้ยาก แต่ถ้าใครพบเห็นคนนำสัตว์เลี้ยงมาทิ้งหรือปล่อย ก็สามารถแจ้งตำรวจได้เช่นกันเพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินเช่นเดียวกับข้อหาทารุณกรรมฯ กฎหมายฉบับนี้ในอนาคตคงมีการพัฒนาให้คุ้มครองสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
โดย กฤษณ์ ชลิตวรกุล https://web.facebook.com/lovethairidgeback พ.ค.2564